ไทยพลัสนิวส์ เสนอ บ๊วย สรรพคุณและประโยชน์ของบ๊วย
ไทยพลัสนิวส์ เสนอ บ๊วย สรรพคุณและประโยชน์ของบ๊วย
ไทยพลัสนิวส์ เสนอ บ๊วย ภาษาอังกฤษ Chinese plum, Japanese apricot, Ume บ๊วย ชื่อวิทยาศาสตร์ Prunus mume Siebold & Zucc. จัดอยู่ในวงศ์ ROSACEAE ในตระกูลพรุน เช่นเดียวกับพลัม ลูกท้อ เชอร์รี่ อัลมอนด์ และนางพญาเสือโคร่ง บ๊วย เป็นผลไม้เมืองหนาวที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศจีน ต่อมาภายหลังได้แพร่กระจายไปหลายประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ไทย ลาว พม่า เวียดนาม ไต้หวัน ฯลฯ สำหรับในประเทศไทยมีการเพาะปลูกกันมานานแล้ว โดยได้แพร่เข้ามาทางภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงราย
บ๊วย
โดยสายพันธุ์ที่นิยมเพาะปลูกกัน ได้แก่ บ๊วยพันธุ์เชียงราย หรือ บ๊วยพันธุ์แม่สาย บ๊วยชนิดนี้จัดเป็นพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมของไทย ต้องปลูกในพื้นที่ที่มีความสูงตั้งแต่ 500 เมตรขึ้นไป และยังมีข้อเสียก็คือ ผลมีขนาดเล็กไม่ตรงกับความต้องการของโรงงานแปรรูป บ๊วยพันธุ์ปิงติง สายพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากไต้หวัน เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ที่มีความสูงตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป บ๊วยพันธุ์เจียนโถ พันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากไต้หวันเช่นเดียวกัน และเหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ที่มีความสูงตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป บ๊วยพันธุ์บารมี 1 หรือ บ๊วยพันธุ์ขุนวาง 1 สายพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่ถูกคัดเลือกมาจากศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่
จุดเด่นก็คือ ลักษณะของผลจะมีขนาดใหญ่และเหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ที่มีความสูงตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป บ๊วยพันธุ์บารมี 2 หรือ บ๊วยพันธุ์ขุนวาง 2 สายพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่ถูกคัดเลือกมาจากศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่เช่นกัน นอกจากจะให้ผลที่มีขนาดใหญ่แล้ว ยังให้ผลผลิตที่สูงอีกด้วย และเหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ที่มีความสูงตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป
ลักษณะของบ๊วย ต้นบ๊วย จัดเป็นไม้ผลยืนต้นที่สามารถเพาะปลูกได้ง่าย ไม่ต้องการการดูแลเอาใจใส่มากนัก มีโรคและแมลงรบกวนน้อย และให้ผลผลิตสูงตามอายุและขนาดลำต้น โดยต้องการอุณหภูมิในการปลูกต่ำประมาณ 7.2 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่านั้น สามารถเจริญเติบโตได้ในดินทุกประเภท และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเสียบกิ่งหรือด้วยวิธีการปักชำ
ใบบ๊วย ใบมีขนาดเล็ก มีสีเขียวอมเทา ขอบใบเป็นหยักคล้ายฟันเลื่อย
ดอกบ๊วย ดอกมีกลิ่นหอม มีสีขาวหรือสีชมพู
ผลบ๊วย หรือ ลูกบ๊วย ผลมีลักษณะกลมสีเขียว เมื่อแก่เต็มที่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ผลบ๊วยโดยทั่วไปแล้วจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตร เนื้อมีรสขมอมเปรี้ยวและมีกลิ่นหอม ผลสุกเนื้อนิ่ม ในผลมีเมล็ดแข็ง ในประเทศญี่ปุ่นและไต้หวันผลจะแก่และเริ่มเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม ส่วนในประเทศไทยจะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนเมษายน
โอวบ๊วย หรือ บ๊วยดำ ภาษาจีนกลางเรียกว่า “อูเหมย” ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Smoked plum โดยนำส่วนของผลบ๊วยที่ใกล้จะสุกมาทำเป็นยา หรือในชื่อของเครื่องยา Fructus Mume (ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากบ๊วย แต่จะมีสรรพคุณแตกต่างกันออกไป ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมาจากสถาบันการแพทย์แผนไทยและจีน)
สรรพคุณบ๊วยดำ โอวบ๊วยมีรสเปรี้ยว ฝาด และสุขุม มีฤทธิ์ช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ปอด ช่วยระงับอาการไอ แก้ไอแห้ง อาการไอเรื้อรัง โอวบ๊วยมีฤทธิ์ช่วยเสริมธาตุน้ำ ช่วยแก้ร้อนแบบพร่อง แก้อาการร้อนใน ช่วยแก้กระหายน้ำ ช่วยลดอาการไข้ ช่วยสมานลำไส้ ช่วยระงับอาการท้องร่วง แก้อาการท้องร่วงเรื้อรังและมีเลือดปน บิดเรื้อรัง ช่วยป้องกันโรคติดต่อในลำไส้ได้ มีฤทธิ์ฆ่าพยาธิ แก้พยาธิ ช่วยห้ามเลือดได้ดี บ๊วยดำประกอบด้วยกรดมาลิก กรดซิตริก กรดซักซินิก ไฟโตสเตอรอล และในเมล็ดจะมีน้ำมัน โดยบ๊วยดำสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่าง ๆ ได้หลายชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อบิด เชื้อวัณโรค เชื้ออหิวาตกโรค เชื้อไทฟอยด์หรือไข้รากสาดใหญ่
บ๊วย
สรรพคุณของบ๊วย
1.ช่วยเพิ่มกำลัง บรรเทาอาการอ่อนเพลีย เพราะการที่คนเรารู้สึกมีอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย ก็เนื่องมาจากกรดในเลือดสูง ร่างกายจึงไม่สามารถปรับสมดุลความเป็นด่างได้ทัน แต่เพราะบ๊วยที่ความเป็นด่างที่ค่า pH 7.35 ซึ่งใกล้เคียงกับเลือดของเรา ดังนั้นการรับประทานบ๊วยจึงช่วงถ่วงดุลความด่างได้ 2.ช่วยลดการกระหายน้ำ
3.ช่วยลดการสูญเสียเหงื่อในร่างกาย
4.ช่วยป้องกันเป็นลมแดด สำหรับผู้ที่ทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง เนื่องจากบ๊วยโดยเฉพาะบ๊วยเค็มจะมีโซเดียมอยู่มาก จึงช่วยเติมเกลือแร่ให้กับร่างกาย โดยควรกินพร้อมกับการดื่มน้ำแบบค่อย ๆ จิบก็จะช่วยได้มาก
5.ช่วยลดมลพิษและอาหารที่เป็นพิษต่อร่างกาย และช่วยลดกรดในกระเพาะ
6.ช่วยแก้อาการเหงือกอักเสบ โรคฟัน แก้ปัญหาเรื่องการเกิดกลิ่นปาก
7.ช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน
8.ช่วยปรับสมดุลในกระเพาะอาหารให้มีความแข็งแรง
9.ช่วยเสริมสร้างระบบการย่อยอาหาร แก้อาการอาหารไม่ย่อย หรือหากมีอาการท้องร่วง จุกเสียดแน่นท้อง การรับประทานบ๊วยจะช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้
10.ช่วยรักษาอาการท้องร่วงเรื้อรังได้
11.ช่วยป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร
12.ช่วยขับพยาธิบางชนิดในลำไส้ได้ บ๊วยเป็นหนึ่งในอาหารที่เป็นตัวช่วยในระบบขับถ่ายน้ำในร่างกาย เพราะการรับประทานอาหารที่มีรสจัด เค็มจัด หรือเผ็ดจัด จะทำให้การขับถ่ายน้ำไม่ค่อยดี อาจทำให้เกิดโรคในระบบการขับถ่ายน้ำตามมา เช่น โรคถุงน้ำดี กระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคบวมน้ำ โรคไต เป็นต้น ซึ่งการรับประทานบ๊วยจะช่วยลดอาการดังกล่าวได้
13.ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา (น้ำบ๊วย)
14.ช่วยแก้อาการแพ้ท้องของสตรีมีครรภ์ ผลบ๊วยแช่น้ำเกลือนำมาคั้นเอาแต่น้ำใช้ดื่มรักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติของสตรีได้ ประโยชน์ของบ๊วย แม้ว่าบ๊วยจะเป็นผลไม้ที่ใช้รับประทานสดไม่ได้ แต่ก็สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ เพื่อใช้บริโภคได้ เช่น บ๊วยเค็ม บ๊วยดอง หรือบ๊วยเจี่ย บ๊วยแช่อิ่ม บ๊วยอบแห้ง ทำแยม น้ำบ๊วย ยาอมรสบ๊วย ฯลฯ หรือนำไปใช้ทำเป็นอาหาร เช่น ปลานึ่งบ๊วย น้ำจิ้มบ๊วย ซอสบ๊วย เป็นต้น การรับประทานบ๊วยจะช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน เมารถ เมาเรือ หรือเมาเครื่องบินได้ หากคุณต้องเดินทางไกลอยู่บ่อย ๆ พกบ๊วยติดตัวไว้จะช่วยได้มาก ช่วยแก้อาการเมาค้างเนื่องมาจากการดื่มเหล้าดื่มสุรา หากคุณมีอาการง่วงนอน บ๊วยถือว่าเป็นของทานเล่นที่ช่วยแก้ปัญหานี้ได้ เพราะจะช่วยผ่อนคลายอาการง่วงนอนได้เป็นอย่างดี
สำหรับผู้ที่มีปัญหาเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรหลีกเลี่ยงหรือจำกัดอาหารที่มีความเค็ม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “บ๊วยเค็ม” เพราะความเค็มเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคชนิดนี้และอาจทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น บ๊วยหวานมีการตรวจพบว่ามีสารซัคคาริน (ขัณฑสกร) ซึ่งเป็นสารให้ความหวานในอาหารแห้ง โดยตรวจพบที่ด่านแม่สายมากถึง 80% การได้รับสารชนิดนี้มากจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร มีอาการระคายเคืองในช่องปาก และเป็นโรคกระเพาะอาหารได้ สำหรับคนทั่วไปและโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหญิงตั้งครรภ์ การรับประทานบ๊วยเค็มในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้ร่างกายมีปริมาณของโซเดียมจากเกลือสูงกว่าปกติ ทำให้มีอาการกระหายน้ำ เป็นร้อนใน เพิ่มความเสี่ยงต่อการมีภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้ไตและหัวใจทำงานหนักขึ้น แนะนำว่าควรเลือกรับประทานอาหารที่มีรสเค็มปานกลาง และลดปริมาณของอาหารที่มีโซเดียมสูง
ข้อมูลอ้างอิง Medthai
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น