บ้านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
บ้านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
บ้านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ เป็นชื่อเรียกบ้านพักของ ขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ นามเดิม เขียน มาลยานนท์ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2424 ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นนายอำเภอเมืองกลาย ถือศักดินา 800 ไร่ เมื่อปี พ.ศ. 2455 เนื่องจาก ไม่มีบุตรจึงยกที่ดิน และบ้านหลังนี้ให้แก่นายโกวิท ตรีสัตยพันธุ์ หลานชายของภรรยา ต่อมานายโกวิท ได้ใช้บ้านและที่ดินนี้เปิดเป็นโรงเรียนประถมศึกษาชื่อ “โรงเรียนรัฐวุฒิวิทยา” ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนนครวิทยา”
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2529 โรงเรียนได้ปิดตัวลง ต่อมาที่ดินแปลงนี้ตกเป็นของนายสำราญ ตรีสัตยพันธุ์ หลานชายของนายโกวิท และได้ให้คนเช่าทำเป็นสถานบริการขายน้ำมันรถยนต์อยู่หลายปี ต่อมาเมื่อหมดสัญญาการเช่า นางณัฏฐสุด ภรรยาของนายสำราญได้ปรึกษาหารือกับนายสุเมธ รุจิวณิชย์กุล สถาปนิกท้องถิ่นในการบูรณะและพัฒนาที่ดินให้เกิดประโยชน์ โดยนายสุเมธได้ให้ความเห็นว่าควรรักษารูปแบบดั้งเดิม และเก็บรายละเอียดเดิมไว้ทุกประการไม่ว่าจะเป็นบานประตูหน้าต่าง พื้น ฝา ฝ้าเพดาน ที่เป็นไม้
ซึ่งเมื่อทำการบูรณะก็สามารถปรับปรุงใหม่ได้เกือบสมบูรณ์แบบ ยกเว้นกระเบื้องหลังคาดินเผาท้องถิ่นที่เป็นแผ่นบางได้ผุและแตกเป็นจำนวนมากยากแก่การจัดหาและดูแลซ่อมแซม จึงเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผาจากราชบุรีที่มีความหนามากขึ้นและคงทนกว่า สำหรับพื้นที่ด้านหน้าอาคาร สถาปนิกได้ออกแบบเป็นลานโล่งตรงกลางเพื่อเป็นมุมมองให้เห็นตัวบ้านเด่นชัดจากถนนใหญ่ แต่เนื่องจากเมื่อครั้งที่เป็นสถานีบริการน้ำมันมีการถมดินสูงจนเกือบชิดตัวบ้าน ทำให้บ้านดูเหมือนจมลงเกือบครึ่งของใต้ถุนบ้าน สถาปนิกจึงออกแบบให้ขุดดินออกถอยร่นให้เป็นมุมเปิดมากขึ้น ส่วนอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ด้านหน้า เพื่อเป็นร้านขายสินค้าพื้นเมืองและร้านอาหารได้ออกแบบให้มีความสอดคล้องกลมกลืน และไม่ไปบังความเด่นของบ้าน
บ้านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์
ลักษณะของ บ้านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์
บ้านท่านขุน เป็นอาคารชั้นเดียวยกใต้ถุนโล่ง ก่ออิฐ เป็นเสารับน้ำหนักและหล่อคานโค้ง ฉาบปูนปั้นบัวกันน้ำหยด มีบันไดขึ้นด้านหน้าเปิดมุมกว้าง ตามลักษณะบ้านโบราณทางใต้ทั่วไป ลักษณะเด่นของอาคาร คือ ด้านหน้าอาคารเป็นมุขคู่ หลังคาเป็นทรงปั้นหยา โดยเป็นส่วนห้องรับแขกหนึ่งมุข และส่วนห้องนั่งพักผ่อนอีกหนึ่งมุข ซึ่งจากมุมห้องพักผ่อนสามารถมองเห็นยอดทองคำของพระธาตุวัดพระมหาธาตุวรวิหารได้
เจ้าของปัจจุบัน ได้เห็นคุณค่าของบ้านหลังนี้ จึงได้ลงทุนปรับปรุงอย่างระมัดระวัง ด้วยงบประมาณที่สูง รวมทั้งได้ปรึกษาหารือผู้รู้ด้านต่าง ๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์งานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นและเป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนเพื่อการเรียนรู้ที่ไม่ได้แสวงหาผลกำไร จึงนับเป็นแบบอย่างให้เอกชนรายอื่น ๆ ตระหนักถึงคุณค่าของที่อยู่อาศัยในอดีตที่ควรอนุรักษ์ไว้
ข้อมูลเพิ่มเติม
ที่ตั้ง : ที่ตั้ง เลขที่ 512 ถนนราชดำเนิน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ปีที่สร้าง : ประมาณปี พ.ศ. 2455
อ้างอิง สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น