พาเที่ยว ตึกชิโนโปรตุกีส

 พาเที่ยว ตึกชิโนโปรตุกีส

สถาปัตยกรรมจีน-โปรตุเกส (อังกฤษ: Sino-Portuguese Architecture) คือรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกันระหว่างตะวันออกกับตะวันตก คือ โปรตุเกส จีน และมลายูในแหลมมลายูสมัยจักรวรรดินิยมตะวันตก ราวปี พ.ศ. 2054 สามารถพบเห็นได้ในมะละกา ปีนัง สิงคโปร์ มาเก๊า รวมถึงไทย เช่น ในเขตเทศบาลนครภูเก็ตซึ่งมีจำนวนมากและสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย


สถาปัตยกรรมจีน-โปรตุเกสเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยในสมัยที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต ในช่วงปี พ.ศ. 2444–2456 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ถือเป็นผู้ที่พัฒนาเมืองภูเก็ตให้มีความเจริญในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะการวางผังเมืองภูเก็ตใหม่ในระบบกริดตาราง



ข้อมูลทั่วไป

อาคารรุ่นเก่าในตัวเมืองภูเก็ต ที่เป็นทั้งบ้านเรือน ร้านค้า สถานที่ราชการ ธนาคาร และอื่น ๆ อีกมากมาย ส่วนใหญ่เป็นตึกซึ่งสร้างขึ้นเมื่อสมัยเกือบร้อยปีมาแล้ว ลักษณะของตัวอาคารเป็นการผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบจีนและยุโรป เรียกว่า สถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส(Chinois Postugess)


คุณค่าของความเป็นเมืองเก่าภูเก็ตที่ยังคงได้รับการเก็บรักษาเป็นอย่างดี และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำที่ผู้มาเยือนทุกคนต้องแวะเวียนมาเยี่ยมชมกันให้ได้ นั่นคือกลุ่มตึกสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ที่สะท้อนถึงความรุ่งเรืองในยุคเหมืองแร่เฟื่องฟูบนภูเก็ตครั้งหนึ่งในอดีต คุณจะได้รื่นรมย์ประวัติศาสตร์สนุก ๆ เรียนรู้เรื่องราวแห่งสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่า สบาย ๆ ชิล ๆ ไปกับคาเฟ่น่ารักที่ดัดแปลงจากตึกเก่าเหล่านั้นมาเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยว ทั้งหมดนี้คือความสุขจากย่านเก่าภูเก็ตที่ต้องเก็บไว้ในลิ้นชักแห่งความทรงจำ เรียนรู้…ชิโน-โปรตุกีส ในอดีตภูเก็ตเคยเป็นเมืองท่าสำคัญทางตะวันตกของแหลมมลายู และมีการติดต่อค้าขายกับชาวจีนโพ้นทะเล โดยเฉพาะกลุ่มที่เดินทางมาจากสิงคโปร์ ปีนัง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกอย่าง โปรตุเกสและฮอลันดา รวมทั้งภูเก็ตยังเป็นแหล่งแร่ดีบุกที่สำคัญของประเทศ ทำให้มีผู้คนจากดินแดนแถบนี้เดินทางเข้ามามากมาย ภูเก็ตจึงเติบโตเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีความเจริญรุ่งเรือง กลายเป็นจุดนัดพบระหว่างวัฒนธรรมใหญ่จากสองมุมโลก และอาคารเก่าแก่ที่เรียงรายในตัวเมืองภูเก็ตเป็นสิ่งยืนยันความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี ตึกเก่าเหล่านี้มีอายุกว่าร้อยปีแล้ว สร้างขึ้นเมื่อครั้งกิจการเหมืองแร่เฟื่องฟู มีลักษณะทาสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์เรียกว่า “ชิโน-โปรตุกีส” (Sino-Portuguese) โดยเป็นอาคารชั้นเดียวหรือสองชั้น มีส่วนลึกมากกว่าส่วนกว้าง และไม่สูงนัก กระเบื้องหลังคา ตลอดจนประตู หน้าต่างไม้ฉลุลาย และรายละเอียดต่าง ๆ ล้วนสะท้อนถึงการผสมผสานทางศิลปะระหว่างยุโรปและจีน อาคารที่น่าชมเหล่านี้กระจุกตัวอยู่ในย่านใจกลางเมือง ซึ่งปัจจุบันทางเทศบาลนครภูเก็ตได้จัดให้มีเส้นทางเดินชมเมืองเก่าภูเก็ต เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมอาคารบ้านเรือนและวิถีชีวิตของชาวภูเก็ต โดยมีระยะทางประมาณ 4.6 กิโลเมตร มีช่วงเส้นทางการเดิน 6 ช่วงย่อย ๆ ถนนบางสายได้รับการปรับแต่งภูมิทัศน์ให้สวยงามจากการเก็บความรกรุงรังของสายไฟให้ดูเรียบร้อยสะอาดตาเพื่อพาคุณเข้าไปสัมผัสความคลาสสิกของภูเก็ตกันอย่างเต็มอิ่ม ที่ตั้ง : ถนนดีบุก ถนนถลาง ถนนกระบี่ และถนนเยาวราช อำเภอเมืองฯ จังหวัดภูเก็ต สอบถามข้อมูลได้ที่ : สำนักงานเทศบาลนครภูเก็ต โทรศัพท์ 0 7621 4325

ประวัติ ตึกชิโนโปรตุกีส

ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำการค้าบริเวณเมืองท่ามะละกา และได้นำเอาศิลปวัฒนธรรมตลอดจนวิทยาการตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ และได้สร้างบ้านและสถาปัตยกรรมตามรูปแบบของตน ส่วนช่างชาวจีนได้นำผังการก่อสร้างไปดำเนินการ แต่ลักษณะของสถาปัตยกรรมได้เพี้ยนไปจากเดิม โดยช่างชาวจีนได้ตกแต่งลวดลายสัญลักษณ์รวมถึงลักษณะรูปแบบบางส่วนของตัวอาคารตามคติความเชื่อของจีน เกิดการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมโปรตุเกสกับจีน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นท่ามกลางสังคมของกลุ่มชน 3 เชื้อชาติ อันได้แก่โปรตุเกส จีน และมลายู ในดินแดนแหลมมลายู


ต่อมาเมื่อชาวดัตช์และอังกฤษเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้ ก็ได้ปรับปรุงรูปแบบของอาคารโดยดัดแปลงและเพิ่มเติมลวดลายต่าง ๆ และมีชื่อเรียกลักษณะการก่อสร้างอาคารเหล่านี้ว่า สถาปัตยกรรม “จีน-โปรตุเกส” คำว่า Sino หมายถึง จีน และคำว่า Portuguese หมายถึง โปรตุเกส แม้ว่าชาวอังกฤษและชาวดัตช์จะเข้ามามีอิทธิพลในการผสมผสานศิลปะของตนเข้าไปในยุคหลังด้วยก็ตามก็ยังเรียกรวมกันว่า จีน-โปรตุเกส


ในประเทศไทยพบสถาปัตยกรรมจีน-โปรตุเกสได้ในภูเก็ต รวมถึงระนอง กระบี่ ตะกั่วป่า พังงา ตรัง และสตูล ซึ่งอาคารส่วนใหญ่สร้างในสมัยของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต ในช่วงปี พ.ศ. 2444–2456 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ภูเก็ตในสมัยนั้นมีความสัมพันธ์ทางด้านการค้ากับปีนัง อาคารแบบจีน-โปรตุเกสได้ถูกสร้างขึ้นโดยนักธุรกิจชาวจีนที่มีความร่ำรวยจากการทำธุรกิจเหมืองแร่ดีบุก


เมื่อปี พ.ศ. 2537 เทศบาลนครภูเก็ต รวมทั้งหน่วยงานจากภาครัฐและองค์กรเอกชน องค์กรท้องถิ่นในเมืองภูเก็ต ได้ร่วมกันพัฒนาและอนุรักษ์ย่านเมืองเก่าขึ้นมา มีการกำหนดให้พื้นที่ประมาณ 210 ไร่ ซึ่งครอบคลุมถนนรัษฎา ถนนพังงา ถนนเยาวราช ถนนกระบี่ ถนนดีบุก ถนนถลาง และถนนเทพกระษัตรี ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม โดยออกเป็นประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีการควบคุมให้พื้นที่อนุรักษ์นี้ ให้มีความสูงอาคารได้ไม่เกิน 12 เมตร และยังได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาอาคารในรูปแบบดั้งเดิมไว้ อย่างเช่นมีการให้เว้นช่องทางเดินด้านหน้า และคงรูปแบบอาคารลักษณะจีน-โปรตุเกสไว้ เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของเมืองภูเก็ต



อย่างไรก็ดี นักวิชาการด้านมรดกสถาปัตยกรรมบางท่านเสนอว่าการเรียกสถาปัตยกรรมยุคอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผสมผสานอิทธิพลจีนและตะวันตกว่า จีน-โปรตุเกส นั้นก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับบริบททางประวัติศาสตร์ของสถาปัตยกรรมกลุ่มนี้ และเสนอให้เรียกว่า สถาปัตยกรรมสรรค์ผสานนิยม (eclectic architectural style) แทน

ลักษณะ

ลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบจีน-โปรตุเกสคือการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมยุโรปกับศิลปะจีน กล่าวคือ “สถาปัตยกรรมแบบอาณานิคม” (colonial style) ถ้าเป็นอาคารสองชั้นกึ่งร้านค้ากึ่งที่อยู่อาศัย (shop-house หรือ semi-residential) จะมีด้านหน้าอาคารที่ชั้นล่างมีช่องโค้ง (arch) ต่อเนื่องกันเป็นระยะ ๆ เพื่อให้เกิดการเดินเท้า ที่ภาษาไทยเรียกทับศัพท์ว่า “อาเขต” (arcade) หรือที่ภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า หง่อคาขี่ ซึ่งมีความหมายว่า ทางเดินกว้างห้าฟุต ในภาษามลายูแปลว่าทางเดินเท้า กากี่แปลว่าเท้า นอกจากอาเขตแล้ว อาคารแบบอาณานิคมมีการนำลวดลายศิลปะตะวันตกแบบกรีก-โรมัน หรือเรียกว่า “ศิลปะคลาสสิก” เช่น หน้าต่างวงโค้งเกือกม้า หรือหัวเสาแบบไอโอนิก (แบบม้วนก้นหอย) และคอรินเทียน (มีใบไม้ขนาดใหญ่ประดับ) เป็นต้น ซึ่งนักวิชาการบางท่านอาจเรียกสถาปัตยกรรมแบบนี้ว่า “คลาสสิกใหม่”

สิ่งที่ผสมผสานศิลปะจีนคือ ลวดลายการตกแต่ง ไม่ว่าจะเป็นภาพประติมากรรมนูนต่ำหรือนูนสูงทำด้วยปูนปั้นระบายสีของช่างฝีมือจีนประดับอยู่บนโครงสร้างอาคารแบบโปรตุเกส บานประตูหน้าต่าง ตลอดจนการตกแต่งภายในที่มีลักษณะเป็นศิลปะแบบจีน








ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เมืองสกาเกน (Skagen) เมืองแห่งการผสมกันของน้ำทะเล

เมืองโอเดนเซ (Odense) เมืองแห่งประวัติศาสตร์ของเดนมาร์ก

ไทยพลัสนิวส์ กีตาร์โปร่งสำหรับมือใหม่ ต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้าง?